การจัดการสิ่งแวดล้อมแบบผสมผสาน

การจัดการสิ่งแวดล้อมแบบผสมผสานบูรณาการบนความพอเพียง

การจัดการสิ่งแวดล้อมแบบผสมผสาน บูรณาการบนความพอเพียง
“ ความพอเพียง” คือคำตอบของการอยู่รอดของมนุษย์และอยู่ร่วมกับสิ่งแวด ล้อมอย่างเกื้อกูลกัน ความพอเพียงคงเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับมวลมนุษย์ผู้ที่มุ่งเสาะแสวงหาความอุดม สมบูรณ์บนพื้นฐานของความขาดดุลและถูกกระแสความรุนแรงของระบบทุนนิยมทำลาย ล้างจนไม่เหลือสิ่งใดแม้กระทั่งจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ ทำไมเรามวลมนุษย์ทั้งหลายถึงหลงวนเวียนในวัฏจักรแห่งความมั่งคั่งด้วยกิเลส ที่ขาดการยั้งคิดถึงผลกระทบที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม คงมีหลายคนที่เพียรพยายามที่จะหาทางแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสภาวะ ปัจจุบัน เช่น สภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆตามมามากมายไม่ว่าจะเป็นการเกิดโรคระบาด การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดทำให้เกิดปัญหาใหม่ๆตามมา จนไม่สามารถหาสาเหตุอันแท้จริงได้ว่า ต้นเหตุของปัญหาในสังคมโลกในปัจจุบันนั้นมาจากสิ่งใด ใครบ้างที่รู้คำตอบ? ใครบ้างที่รู้วิถีทางแก้ไข?เคยมีใครคนหนึ่งถามผู้เขียนว่าหากวันหนึ่งไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปาเราจะยู่ได้ไหม? ผู้เขียนรีบตอบอย่างไม่คิดว่าทำไมจะไม่ได้ ในเมื่อบรรพบุรุษของเราแต่เก่าก่อนก็ไม่เห็นจะต้องมีไฟฟ้าเลย แต่ก็ยังคงมีชีวิตสืบทอดมาจนมีชนรุ่นหลังอย่างพวกเราในทุกวันนี้ ที่ผู้เขียนพูดในประโยคนี้ไม่ได้ต่อต้านเทคโนโลยีใหม่ๆแต่อย่างใด เพียงแต่อยากให้ฉุกคิดสักนิดว่าเราใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้องและสมดุลหรือไม่ ? คงเป็นประเด็นคำถามที่ต้องฝากให้ผู้อ่านได้คิด เราอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างเกื้อกูลหรือไม่? อยู่อย่างไรที่เรียกว่าเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม? ความพอเพียงคือคำตอบ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พัฒนาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อที่จะให้พสกนิกรชาวไทยได้เข้าถึงทาง สายกลางของชีวิตและเพื่อคงไว้ซึ่งทฤษฏีของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทฤษฎีนี้เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตซึ่งอยู่ระหว่าง สังคมระดับท้องถิ่นและตลาดระดับสากล จุดเด่นของแนวปรัชญานี้คือ แนวทางที่สมดุล โดยชาติสามารถทันสมัย และก้าวสู่ความเป็นสากลได้ โดยปราศจากการต่อต้านกระแสโลกาภิวัฒน์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญในช่วงปี พ.ศ. 2540 เมื่อปีที่ประเทศไทยต้องการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพเพื่อที่จะยืนหยัดใน การพึ่งตนเองและพัฒนานโยบายที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยการสร้างแนวคิดเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้ ซึ่งคนไทยจะสามารถเลี้ยงชีพโดยอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า มันไม่ได้มีความจำเป็นที่เราจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIC) พระองค์ได้ทรงอธิบายว่า ความพอเพียงและการพึ่งตนเอง คือ ทางสายกลางที่จะป้องกันการเปลี่ยนแปลงความไม่มั่นคงของประเทศได้เศรษฐกิจพอเพียงเชื่อว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมของชมชุนให้ดีขึ้นโดยมีปัจจัย 2 อย่างคือ
การผลิตจะต้องมีความสัมพันธ์กันระหว่าง ปริมาณผลผลิตและการบริโภค
ชุมชนจะต้องมีความสามารถในการจัดการทรัพยากรของตนเอง
...ผลที่เกิดขึ้นคือ...
เศรษฐกิจพอเพียงสามารถที่จะคงไว้ซึ่งขนาดของประชากรที่ได้สัดส่วน
ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม
รักษาสมดุลของระบบนิเวศและปราศจากการแทรกแซงจากปัจจัยภายนอก
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ยึดหลักทางสายกลาง ที่ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีความพอเพียง และมีความพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งจะต้องอาศัยความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เพียงการประหยัด แต่เป็นการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อให้สามารถอยู่ได้แม้ในโลกโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันสูง
ระบบเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นให้บุคคลสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน และใช้จ่ายเงินให้ได้มาอย่างพอเพียงและประหยัด ตามกำลังของเงินของบุคคลนั้น โดยปราศจากการกู้หนี้ยืมสิน และถ้ามีเงินเหลือ ก็แบ่งเก็บออมไว้บางส่วน ช่วยเหลือผู้อื่นบางส่วน และอาจจะใช้จ่ายมาเพื่อปัจจัยเสริมอีกบางส่วน (ปัจจัยเสริมในที่นี้เช่น ท่องเที่ยว ความบันเทิง เป็นต้น) สาเหตุที่แนวทางการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ได้ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในขณะนี้ เพราะสภาพการดำรงชีวิตของสังคมทุนนิยมในปัจจุบันได้ถูกปลูกฝัง สร้าง หรือกระตุ้น ให้เกิดการใช้จ่ายอย่างเกินตัว ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเกินกว่าปัจจัยในการดำรงชีวิต เช่น การบริโภคเกินตัว ความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ ความสวยความงาม การแต่งตัวตามแฟชั่น การพนันหรือเสี่ยงโชค เป็นต้น จนทำให้ไม่มีเงินเพียงพอเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น ส่งผลให้เกิดการกู้หนี้ยืมสิน เกิดเป็นวัฏจักรที่บุคคลหนึ่งไม่สามารถหลุดออกมาได้ ถ้าไม่เปลี่ยนแนวทางในการดำรงชีวิต
การมุ่งเป้าหมายในชีวิตเพื่อเกิดความเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อมนั้นคงหนีไม่พ้น การใช้ชีวิตแบบพอเพียง การเกษตรแบบผสมผสานจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับหลาย คนที่ต้องการกลับสู่ธรรมชาติ ปลูกผัก ปลูกหญ้า กินตามประสาคนสูงด้วยประสบการณ์ชีวิตหรือคนแก่ที่ใครๆไม่อยากถูกเรียก ผู้เขียนเคยสอบถามเพื่อนๆ พี่ๆ หลายคน ว่าชีวิตตอนเกษียน อยากทำอะไร คำตอบมากกว่าครึ่งบอกว่าอยากทำสวนปลูกผัก ปลูกหญ้า กินตามแนวทางความพอเพียง เคยมีคำถามในใจผู้เขียนว่าทำไมเราต้องรอให้เป็นช่วงบั้นปลายชีวิต เราจะเริ่มใช้ชีวิตแบบพอเพียงเลยได้หรือไม่? คงไม่ยาก หากเราไม่ลุ่มหลงในการบริโภคเกินตัว จริงไหม?
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญที่มักเกิดควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม และการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะพบได้ในเกือบทุกประเทศ โดยประเทศไทยเองก็เป็นประเทศหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาดังกล่าวในขณะนี้ เนื่องจากประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิและสังคม ฉบับที่ 10 ปี พ.ศ. 2550-2554 ด้วยการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ซึ่งหากไม่มีแผนการดำเนินงานที่เหมาะสมแล้ว จะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่มีสภาพเสื่อมโทรมลง และยังก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบนิเวศได้ในที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญและปัญหาสิ่งแวดล้อมแลทรัพยากรธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต จึงทรงให้มีการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิธีการทำนุบำรุง ปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติให้ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ โดยทรงเน้นงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ของพระองค์ จะมีแนวทางเป็นไปตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การนำทรัพยากรหรือวัสดุต่าง ๆ ที่สามารถหาได้ง่ายในชุมชนมาใช้ประโยชน์ เพื่อการบำบัดน้ำเสียและใช้ในการแก้ปัญหาที่เกิดกับมลพิษทางน้ำของประเทศโดยแต่ละโครงการจะมีหลักการและสาระสำคัญ ดังนี้ 1. การบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในการปรับปรุงคุณภาพของแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้ว เช่น บึงและหนองต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแหล่งบำบัดน้ำเสียที่รับมาจากคลองให้มีสภาพดีขึ้น โดยหนึ่งในโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำที่สำคัญ คือ โครงการบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหลักการบำบัดน้ำเสียตามแนวทฤษฎีการพัฒนาโดยอาศัยผักตบชวาช่วยดูดซับสิ่งสกปรก โลหะหนัก และสารพิษต่าง ๆ ในแหล่งน้ำ 2. การบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบเติมอากาศ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเนื่องจากทรงห่วงใยในปัญหาน้ำเน่าเสียที่เกิดขึ้นที่หนองหาน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นแหล่งรองรับน้ำเสียจากครัวเรือนในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร เมื่อชุมชนเมืองมีการขยายตัว จนทำให้หนองหานไม่สามารถรองรับน้ำเสียได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานแนวพระราชดำริทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชและระบบเติมอากาศ ณ บริเวณหนองสนม-หนองหาน จังหวัดสกลนคร การบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบเติมอากาศเป็นระบบการบำบัดน้ำ โดยอาศัยธรรมชาติร่วมกับเทคโนโลยีแบบประหยัด คือ การสร้างบ่อกรวดสำหรับดักสารแขวนลอย จากนั้นจึงส่งผ่านน้ำไปยังบ่อต่อ ๆ ไป ซึ่งมีการปลูกต้นกกอียิปต์เพื่อดับกลิ่น การปลูกผักตบชวาเพื่อช่วยดูดซับสิ่งสกปรก โลหะหนักและสารพิษต่าง ๆ ในแหล่งน้ำ สุดท้ายจึงส่งน้ำเข้าสู่บ่อเติมออกซิเจน โดยอาศัยกังหันน้ำชัยพัฒนาและแผงท่อเติมอากาศช่วยเติมออกซิเจนลงในน้ำ 3. การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดและวัชพืชบำบัด โครงการวิจัยและการพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงปัญหาภาวะมลพิษที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน เนื่องจากภายในชุมชนยังขาดระบบบำบัดน้ำเสียและการกำจัดขยะมูลฝอยที่ดีและมีประสิทธิภาพ จึงทรงให้ดำเนินการตามโครงการดังกล่าวขึ้นในพื้นที่ 1,135 ไร่ เพื่อให้เป็นโครงการศึกษาวิจัยวิธีการบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะมูลฝอยและการรักษาสภาพป่าชายเลนด้วยวิธีธรรมชาติ โดยอาศัยระบบการบำบัดคล้ายกับที่หนองหาน คือ มีบ่อสำหรับดักขยะและสิ่งสกปรกต่าง ๆ จากนั้นจึงส่งไปบำบัดในขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไป 4. กังหันน้ำชัยพัฒนา เป็นเครื่องกลเติมอากาศเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำเพื่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับอุปกรณ์การเติมอากาศ และทรงค้นคิดทฤษฎีบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ โดยอาศัยวิธีการทำให้ออกซิเจนสามารถละลายลงไปในน้ำได้มากขึ้น จึงช่วยเร่งการเจริญเติบโตและการเพาะขยายของแบคทีเรียอย่างรวดเร็ว จนมีปริมาณมากพอที่จะย่อยสลายสิ่งสกปรกที่อยู่ในน้ำได้ กังหันน้ำชัยพัฒนา เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เรียบง่ายประหยัด และสามารถผลิตขึ้นเองภายในประเทศ โดยมีหลักการทำงาน คือ การวิดน้ำขึ้นมา แล้วปล่อยให้น้ำไหลเป็นสายออกจากซองวิดน้ำ ทำให้น้ำสัมผัสอากาศได้อย่างทั่วถึง ออกซิเจนจึงสามารถละลายในน้ำได้มากขึ้นจึงเป็นการเพิ่มปริมาณออกซิเจนในแหล่งน้ำได้ 5. การกำจัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาทดลองวิจัยว่ามีปลาชนิดใดที่จะช่วยกินสารอินทรีย์ในแหล่งน้ำเสียซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดการเกิดน้ำเสียได้ มีต้นทุนต่ำ และสามารถเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำได้อีกทางหนึ่งด้วย ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม "องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ" (FAO) จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญสดุดีพระเกียรติคุณด้านการพัฒนาการเกษตร แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ในฐานะที่ทรงบำเพ็ยพระราชกรณียกิจ อุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะผู้ซึ่งประกอบอาชีพเพาะปลูกบำรุงรักษาน้ำ และบำรุงรักษาป่า นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีโครงการพระราชดำริตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกี่ยวกับการบำรุงรักษาและบำบัดมลพิษในดิน โดยใช้การปลูกพืชบางชนิด เช่น การปลูกหญ้าแฝกช่วยคลุมดินและยึดเกาะดิน เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน อีกทั้งยังเป็นการช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวดินอีกด้วย การใช้เศษวัสดุที่ไม่มีประโยชน์ต่อครัวเรือน เช่น ซากพืชเศษวัชพืช หรือของเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตปุ๋ยจากจุลินทรีย์อีเอ็ม ซึ่งสามารถใช้แทนปุ๋ยเคมีได้ จึงเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมที่สมดุลของดินให้มีความยั่งยืนสืบต่อไปได้

อ้างอิงจาก...
ฉายแสง แสงฉายผอ.สำนักพัฒนาธุรกิจ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ / เรียบเรียง
ที่มาจาก : ดร.ฤทธิ์ วัฒนชัยยิ่งเจริญ . ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมสิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต . พิมพ์ครั้งที่ 1 . กรุงเทพ ฯ : อักษรเจริญทัศน์
การจัดการสิ่งแวดล้อมแบบผสมผสาน
โดย ศ.ดร.เกษม จันทร์แก้ว

แนวทางประยุกต์ใช้ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
วิโชติ จงรุ่งโรจน์
สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้
29 พฤศจิกายน 2550

ความคิดเห็น

  1. ฉบับหน้าพบกับ บทเรียนวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น นะครับ นักศึกษาหลักสูตร วท.บ.(สาธารณสุขชุมชน)และพท.บ.(การแพทย์แผนไทย)ชั้นปีที่ 1 ต้องศึกษาและตอบคำถามด้วยนะครับ

    ตอบลบ
  2. ยกตัวอย่างการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบผสมผสานในภาคใต้ครับ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

ขอความกรุณาแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพและมีหลักการ ขอบคุณครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำและความเป็นมา

บทเรียนวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นจากปูนขาว